วันจันทร์ที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

'' วายร้าย HPV กับมะเร็งปากมดลูก ''


"ทุกคนมีโอกาสติดเชื้อ HPV มันร้ายกาจอาจทำให้ตายหรือเป็นที่รังเกียจ แต่ถ้าเรารู้เท่าทัน เราก็ป้องกันได้ "


ท่านผู้อ่านที่รักใครบ้างจะปฏิเสธว่าอนาคตเป็นเรื่องไม่แน่นอน แม้กระทั่งเรื่องสุขภาพของตัวเราเอง ไม่มีใครตอบได้ว่าเราจะมีอายุยืนยาวไปถึงเมื่อไร จะอยู่แบบเจ็บป่วยหรือแข็งแรง แต่ที่แน่ๆเราต่างก็รู็กันอยู่ว่าเราสามารถกำหนดวิธีดูแลสุขภาพตัวเองได้ (แต่ก็ทำบ้างไม่ทำบ้างใช่ไหม)ในเมื่อเวลาไม่เคยรอใครและไม่เคยให้ใครรอ ตั้งใจจะปรับปรุงตัวเองเรื่องการดูแลเรื่องสุขภาพเสียใหม่ และอยากชวนผู้อ่านมาร่วมความตั้งใจนี้อีกทั้งชวนให้มาช่วยดูแลซึ่งกันและกัน และวิธีง่ายๆที่จะช่วยดูแลกันและกันก็คือการรู้จักกับภัยใกล้ตัวและบอกต่อวิธีป้องกัน ในครั้งนี้เรื่องที่อยากพูดถึงคือเรืองวายร้าย ไวรัส HPV ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคที่เป็นแล้วอาจตาย (เช่น มะเร็งปากมดลูก) หรือเป็นแล้วต้องอาย (หูดหงอนไก่) ไวรัสนี้มันน่ากลัวมากในยามที่ร่างกายอ่อนแอ 


งานนี้ ขอขอบคุณดร.วรพรรณ เรืองผกา ที่ช่วยรวบรวมข้อมูลและภาพประกอบเกี่ยวกับ HPV และอีกท่านหนึ่งที่ต้องขอบคุณอย่างยิ่งคือแพทย์หญิง สุวนิตย์ ธีระศักดิ์วิชยา หัวหน้าสถานวิทยามะเร็งศิริราช และ อาจารย์ประจำภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ที่กรุณาให้คำแนะนำและตรวจสอบความถูกต้องของเนื้อหา

ท่านผู้อ่านค่ะ ไม่ว่าคุณจะเป็นชายหรือหญิง อายุน้อยหรือมาก คุณก็มีโอกาสได้รับเชื้อHPVได้ แต่เมื่อคุณรู้จักกับมันแล้ว คุณก็สามารถป้องกันตัวเองจากไวรัสนี้ได้เช่นกัน และที่สำคัญคุณก็สามารถมีส่วนร่วมในการป้องกันคนอื่นๆจากเจ้าไวรัสนี้ได้ด้วย เพียงแค่คุณบอกต่อ

มาเริ่มต้นกันเลยนะคะ

ดร.รัชดา ธนาดิเรก
สมาชิกสภาผู้แทนราษฏร

HPV โดยบังเอิญ


'ได้รู้จักกับเจ้าเชื้อไวรัส HPV โดยบังเอิญ ความร้ายกาจของมันทำให้ขวัญกระเจิงไปพักใหญ่ แต่เมื่อได้รับความรู้จากอาจารย์หมอสุวนิตย์   (คุณหมอผู้ดูแล) และได้พยายามศึกษาจากเอกสารวิชาการต่างๆด้วยตัวเองจึงรู้ว่าโรคที่เกิดจากไวรัสHPVนั้นป้องกันได้และรักษาให้หายได้


วันหนึ่งเพื่อนรัก (ดร.รัชดา)มาชวนให้มาช่วยกันทำโครงการเกี่ยวกับการให้ความรู้ที่จำเป็นแก่ผู้หญิง ที่ผ่านมาเห็นว่าเพื่อนทำเรื่องเกี่ยวกับการเงินไปแล้ว เลยเสนอไปว่าน่าจะมาทำเรื่องสุขภาพบ้าง และเรื่องที่น่าทำมากเวลานี้ก็คือ HPV เพราะเป็นไวรัสซึ่งเป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูก โรคที่ทำให้ผู้หญิงไทยเสียชีวิตมากที่สุด โดยส่วนตัวก็มีความตั้งใจอยู่แล้วว่าอยากใช้ประสบการณ์และข้อมูลที่มีให้เกิดประโยชน์แก่สังคม ก่อนหน้านี้ก็ได้รวบรวมข้อมูลและทำ Blog เกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่บ้าง เพราะคิดว่าวันนึงเมื่อลูกสาวทั้งสองโตขึ้นเขาจะได้อ่านและจะได้แบ่งปันความรู้ให้แก่เพื่อนๆของเขา อีกทั้งการเผยแพร่เรื่องนี้หากทำได้ในวงกว้างจะช่วยให้คนไทยมีสุขภาพแข็งแรง ลดค่าใช้จ่ายด้านการแพทย์ และมีอายุที่ยืนยาวด้วย 

ดิฉันอยากให้คนไทยได้รู้จักวิธีป้องกันและดูแลตัวเอง รวมไปถึงดูแลคนที่เรารักให้ปลอดภัยจากเจ้าวายร้าย HPV"
  

 ด้วยความห่วงใย

ดร.วรพรรณ เรืองผกา

หนังสือพิมพ์ สถานีอนามัย







หากคุณมีคนที่คุณรักและห่วงใย 
ร่วมกันส่งต่อหรือแชร์ ข่าวสารความรู้แบบ e-Book คลิกได้เลยค่ะ

HPV คือ อะไร?


Human Papillomavirus (HPV) คือ อะไร?

Human Papillomavirus คือ ไวรัสทั่วไปที่ทำให้เกิดการติดเชื้อทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย ซึ่ง HPV มีมากกว่า 100 ชนิด บางชนิดทำให้เกิดหูดที่มือและเท้า HPV ส่วนใหญ่ไม่ทำให้เกิดอาการใดๆ และจะหายไปเองโดยไม่ต้องได้รับการรักษา
HPV ประมาณ 30 ชนิดเป็นที่รู้จักกันในนาม genital HPV (HPV ที่บริเวณอวัยวะเพศ) เนื่องจากทำให้เกิดการติดเชื้อที่บริเวณอวัยวะเพศ บางชนิดจะทำให้เซลล์บุผิวปากมดลูกมีการเปลี่ยนแปลง หากไม่ได้รับการรักษา เซลล์ผิดปกติเหล่านี้อาจเปลี่ยนไปเป็นเซลล์มะเร็ง HPV ชนิด อื่นๆ อาจทำให้เกิดหูดที่อวัยวะเพศและมีการเปลี่ยนแปลงที่ปากมดลูกซึ่งไม่ใช่มะเร็ง (มีความผิดปกติ แต่ไม่ใช่มะเร็ง) HPVหลายชนิดทำให้ผลการตรวจ Pap tests ที่ ผิดปกติ

เชื้อเอชพีวี(HPV)กับมะเร็งปากมดลูก


รู้ไหมว่า มะเร็งปากมดลูกเป็นสาเหตุการตายอันดับต้นของมะเร็งทั้งหมดในหญิงไทยในปัจจุบัน

เชื้อเอชพีวี(HPV)กับมะเร็งปากมดลูกมะเร็งปากมดลูก… โรคที่ป้องกันได้

มะเร็งปากมดลูก มีสาเหตุหลักจากไวรัสชนิดที่เรียกว่า เอชพีวี[Human  Papillomavirus  (HPV)]    HPV เป็นไวรัสที่พบได้ทั่วไป ซึ่งอาจทำให้เกิดการติดเชื้อทั้งในผู้ชายและผู้หญิง  เชื้อ HPV นี้มีมากมายมากกว่า 100 ชนิดที่อาจทำให้เกิดการติดเชื้อที่บริเวณต่างๆ ของร่างกาย เช่น ชนิดที่ทำให้เกิดหูดที่มือ เท้า ขาลิ้น ริมฝีปาก ปาก รอบปาก ทวารหนัก หรือ ขึ้นทั้งตัว (Rootman) แต่ HPV บางชนิด เช่นชนิด 16 หรือ 18 ทำให้เกิดการติดเชื้อบริเวณอวัยวะเพศและนำไปสู่มะเร็งปากมดลูก เซลล์ผิดปกติของปากมดลูก และหูดที่อวัยวะเพศ ดังนั้น จึงเป็นสิ่งสำคัญที่คุณควรจะทราบข้อมูลทั้งหลายเกี่ยวกับ HPV เพื่อช่วยป้องกันโรคเหล่านี้

มะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งอันดับสองที่พบในผู้หญิงทั่วโลก (รองจากมะเร็งเต้านม) องค์การอนามัยโลกประมาณการณ์ว่า ในปัจจุบันมีผู้หญิงมากกว่า 2 ล้านคนที่เป็นมะเร็งปากมดลูกและมีการตรวจพบ ในแต่ละวันผู้หญิงเกือบ3,000 รายทั่วโลกจะเสียชีวิตลงด้วยมะเร็งปากมดลูก


ในปัจจุบันยังมะเร็งปากมดลูกยังคงเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของไทย และเป็นโรคมะเร็งที่พบมากที่สุดในหญิงไทย ในแต่ละปีจะมีหญิงไทยได้รับการวินิจฉัยเป็นมะเร็งปากมดลูกรายใหม่ประมาณ 6,500-7,000 คน ซึ่งร้อยละ 40-50 จะเสียชีวิตจากโรคนี้ คนไทยเสียชีวิตจากโรคนี้โดยเฉลี่ย 7 คนต่อวัน ซึ่งกำลังจะเพิ่มเป็น 10 คนต่อวัน


ค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูก จะตกประมาณ 350 ล้านบาทต่อปี และ และมีแนวโน้มการเสียชีวิตจากโรคที่จะสูงขึ้นเรื่อย ๆ นอกจากนี้ผู้ป่วยอาจได้รับความทุกข์ทรมานจากโรค หรือจากการบำบัดรักษาปัจจุบันเป็นที่ทราบแล้วว่าสาเหตุของมะเร็งปากมดลูกเกือบทั้งหมดเกิดจากการติดเชื้อHPV

มะเร็งปากมดลูกสามารถเกิดขึ้นได้กับผู้หญิงตั้งแต่เริ่มมีเพศสัมพันธุ์หรือเป็นสาว (แม้จะไม่พบบ่อยนักโดยประมาณครึ่งหนึ่งของผู้หญิงที่ตรวจพบมะเร็งปากมดลูก มีอายุระหว่าง 35-55 ปี ซึ่งผู้หญิงเหล่านี้หลายรายมีการสัมผัสเชื้อตั้งแต่เป็นวัยรุ่นและในช่วงอายุ 20-30 ปี  มะเร็งปากมดลูกพบมากในผู้หญิงที่มีช่วงอายุระหว่าง 35 - 60 ปี 

มะเร็งปากมดลูก คืออะไร?


รู้ไหมว่า สาเหตุสำคัญของการเป็น มะเร็งปากมดลูก เกิดจากเชื้อไวรัส HPV !

มะเร็งปากมดลูกเป็นโรคที่ร้ายแรงซึ่งอาจคุกคามถึงชีวิต เมื่อผู้หญิงติดเชื้อ HPVบางชนิด และเชื้อไม่ถูกกำจัดโดยภูมิต้านทานของร่างกายก็อาจเกิดเซลล์บุผิวปากมดลูกผิดปกติ หากตรวจไม่พบและไม่ได้รับการรักษาแต่เนิ่นๆ เซลล์ที่ผิดปกติเหล่านี้อาจเปลี่ยนเป็นระยะก่อนเป็นมะเร็ง ซึ่งจะเปลี่ยนเป็นเซลล์มะเร็งในที่สุด การเปลี่ยนแปลงนี้จะใช้เวลาหลายปี (2-10 ปี) แต่ก็อาจเกิดขึ้นภายใน ปีได้สำหรับบางราย  ผู้ป่วย มะเร็งปากมดลูกเกือบทุกราย เริ่มจากการติดเชื้อไวรัสฮิวแมน แพปพิลโลมา [Human Papillomavirus (HPV)] จึงเป็นเรื่องสำคัญที่คุณควรจะปรึกษาแพทย์ผู้ดูแลเพื่อทำการตรวจ แปปสเมียร์ ซึ่งจะช่วยในการตรวจหาความเปลี่ยนแปลงของเซลล์ปากมดลูกที่น่าสงสัย ก่อนที่เซลล์เหล่านี้จะกลายไปเป็นมะเร็ง
มะเร็งปากมดลูก คือ การเจริญเติบโตที่ผิดปกติของเซลล์ปากมดลูก (ส่วนล่างของมดลูก) เมื่อเซลล์ที่บริเวณใดบริเวณหนึ่งของร่างกายมีการเจริญเติบโตผิดปกติ ก็อาจเกิดมะเร็งได้ มะเร็งปากมดลูก คือ เซลล์ปากมดลูกที่มีการเจริญผิดปกติ  ซึ่งปากมดลูก ก็คือ ส่วนล่างของมดลูก

สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของการเป็นมะเร็งปากมดลูก

สาเหตุสำคัญของมะเร็งปากมดลูก คืออะไร?

สาเหตุสำคัญของมะเร็งปากมดลูก คือ การติดเชื้อ HPV บริเวณอวัยวะเพศ โดยเฉพาะที่บริเวณปากมดลูก

ปัจจัยเสี่ยงของการเป็นมะเร็งปากมดลูก คืออะไร?
เนื่องจากการติดเชื้อHPV ส่วนใหญ่เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ จึงกล่าวได้ว่า
มะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งที่เกี่ยวข้องกับการมีเพศสัมพันธ์ การมีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายที่มีเชื้อHPV (ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ชายจะไม่มีอาการหรือตรวจไม่พบเชื้อ) แม้เพียงครั้งเดียวก็มีโอกาสติดเชื้อHPVและเป็นมะเร็งปากมดลูก
ปัจจัยเสี่ยงของการเป็นมะเร็งปากมดลูก ได้แก่

          1. ปัจจัยเสี่ยงทางฝ่ายหญิง ได้แก่ การมีคู่นอนที่มีเชื้อ HPV (ผู้ชายอาจจะไม่แสดงอาการหรืออาจจะตรวจไม่พบเชื้อ) หรือ การมีคู่นอนที่เป็นมะเร็งองคชาติ การมีคู่นอนมากกว่าหนึ่งคน ความเสี่ยงสูงขึ้นตามจำนวนคู่นอนที่เพิ่มขึ้น การมีเพศสัมพันธ์เมื่ออายุน้อย การสูบบุหรี่ มีประวัติการเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์หรือเป็นโรคเอดส์

          2. ปัจจัยเสี่ยงทางฝ่ายชาย ได้แก่ ชายที่เคยมีภรรยาเป็นมะเร็งปากมดลูก เคยเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ผ่านประสบการณ์ทางเพศตั้งแต่อายุน้อย เช่น เที่ยวประเวณี หรือ มีคู่นอนมากกว่าหนึ่งคน หรือเป็นกลุ่มชายรักชาย


อาการของมะเร็งปากมดลูก


อาการของผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกจะมากหรือน้อยขึ้นกับระยะของมะเร็ง ในระยะแรกอาจไม่มีอาการผิดปกติ แต่สามารถตรวจพบได้จากการตรวจคัดกรองมะเร็งด้วยวิธีแปปสเมียร์ อาการที่อาจพบในผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูก ได้แก่
           การตกเลือดทางช่องคลอด เป็นอาการที่พบได้มากที่สุดประมาณร้อยละ 80 – 90 ของผู้ป่วย ลักษณะเลือดที่ออกอาจจะเป็นเลือดออกกะปริบกะปรอยระหว่างรอบเดือน เลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์ มีน้ำปนเลือด ตกขาวปนเลือด เลือดออกหลังวัยหมดประจำเดือน
           อาการในระยะหลังเมื่อมะเร็งลุกลามหรือไปสู่อวัยวะอื่นๆ ได้แก่ ขาบวม ปวดหลัง ปวดก้นกบ ปัสสาวะเป็นเลือด ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด เป็นต้น

มะเร็งปากมดลูก สามารถรักษาได้หรือไม่?

วิธีการรักษามะเร็งปากมดลูกขึ้นกับระยะของมะเร็ง ความต้องการมีบุตรของผู้ป่วย และโรคทางนรีเวชอื่น ๆ ที่เป็นร่วมด้วย


การรักษาในระยะก่อนเป็นมะเร็งหรือระยะก่อนลุกลาม มีวิธีการติดตามและรักษาได้หลายวิธี ได้แก่

·      การตัดปากมดลูกด้วยห่วงไฟฟ้า
·      การจี้ปากมดลูกด้วยความเย็น
·      การจี้ด้วยเลเซอร์
·      การตัดปากมดลูกออกเป็นรูปกรวยด้วยมีด

หลังจากนั้นควรตรวจติดตามผลการรักษาอย่างใกล้ชิด โดยการตรวจภายในและทำแปปสเมียร์ หรือตรวจด้วยกล้องขยาย ทุก 4 – 6 เดือน โดยรอยโรคขั้นต่ำบางชนิดสามารถหายไปได้เองภายใน 1 – 2 ปี

การรักษามะเร็งปากมดลูกระยะลุกลาม

มะเร็งปากมดลูกสามารถรักษาได้หลายวิธี เช่นเดียวกับมะเร็งชนิดอื่นๆ สิ่งที่แพทย์จะต้องพิจารณาก่อนเลือกวิธีการรักษา คือ
·      ระยะของมะเร็งและมีการแพร่กระจายหรือไม่
·      อายุของผู้ป่วย และสุขภาพโดยรวม
·      ความพอใจของผู้ป่วย

วิธีหลักที่ใช้ในการรักษามะเร็งปากมดลูกมี วิธี คือ การผ่าตัด การให้รังสีรักษาและเคมีบำบัด ในการรักษาอาจจะต้องใช้วิธีเหล่านี้ร่วมกันตั้งแต่ วิธีขึ้นไป ในแผนการรักษาจะต้องมีการพบแพทย์เพื่อตรวจติดตาม ซึ่งรวมถึง การเอ็กซ์เรย์ การเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อไปตรวจ การตรวจเลือด และการตรวจอื่นๆ
เนื่องจากผู้ป่วยแต่ละรายมีความแตกต่างเฉพาะตัว จึงตอบสนองต่อการรักษาที่แตกต่างกัน วิธีการรักษาที่เหมาะกับรายหนึ่งอาจไม่เหมาะกับรายอื่นๆ แพทย์จะประเมินความเสี่ยง และผลข้างเคียง เพื่อหาทางเลือกที่ดีที่สุดในการรักษามะเร็งปากมดลูกสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย

มะเร็งปากมดลูกสามารถป้องกันได้ไหม?


มะเร็งปากมดลูกสามารถป้องกันได้ เพราะแพทย์สามารถตรวจหา ระยะก่อนเป็นมะเร็งปากมดลูก” ได้ตั้งแต่ยังไม่มีอาการ โดยวิธีการตรวจที่เรียกว่าแปปสเมียร์ (Pap Smear) คือการเก็บเอาเซลล์เยื่อบุบริเวณปากมดลูกไปตรวจหาเซลล์มะเร็ง เป็นการค้นหามะเร็งแรกเริ่มหรือสภาวะปากมดลูกที่กำลังจะกลายเป็นมะเร็ง การตรวจสามารถลดอัตราการเกิดและการตายของมะเร็งปากมดลูกได้อย่างมาก  นปัจจุบันมีวัคซีนHPVเป็นวัคซีนที่ใช้ในการป้องกันโรคที่เกิดจากการติดเชื้อHPVสายพันธุ์ที่อยู่ในวัคซีนเท่านั้น เช่น HPVสายพันธุ์16, 18  มิใช่ใช้เพื่อการรักษาโรคที่เกิดจากเชื้อHPVซึ่งมีอยู่ในร่างกายแล้ว ขณะให้วัคซีน วัคซีนHPVจะมีประโยชน์สูงสุด ในการป้องกันมะเร็งปากมดลูก เมื่อฉีดก่อนได้รับเชื้อHPV หรือก่อนมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก และเมื่อมีเพศสัมพันธ์แล้วต้องรับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก เช่น แปบสเมียร์อย่างสม่ำเสมอร่วมด้วย

ในกรณีที่เคยมีเพศสัมพันธ์ไปแล้ว ก็ขึ้นกับว่าคุณเคยได้รับเชื้อHPV สายพันธุ์ใดสายพันธุ์หนึ่งอยู่ก่อนแล้วหรือไม่ ถ้าคุณได้รับเชื้อHPVสายพันธุ์ที่มีอยู่ในวัคซีน (เช่นสายพันธุ์16, 18) สายพันธุ์ใดสายพันธุ์หนึ่งอยู่ก่อนแล้ว การฉีดวัคซีนก็ได้ประโยชน์น้อยลงไป และยิ่งถ้ามีการติดเชื้อHPVทั้งสองสายพันธุ์ดังกล่าวอยู่ก่อนแล้ว การฉีดวัคซีนก็อาจจะไม่ได้ประโยชน์เลย การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างสำม่เสมอยังเป็นวิธีที่เหมาะสมสำหรับคนที่ไม่สามารถเข้าถึงวัคซีนได้


แม้ว่าการตรวจแปปสเมียร์  ซึ่งเป็นวิธีแรกในการตรวจหาเซลล์ผิดปกติของปากมดลูกจะมีความสำคัญ แต่ผู้หญิงส่วนมากกลับละลายไม่สนใจ มีผู้หญิงไทยจำนวนไม่ถึง 10% ที่เคยทำการตรวจแปปสเมียร์

สามารถตรวจคัดกรองหรือตรวจหามะเร็งปากมดลูกได้อย่างไร?

วิธีแรกที่ใช้ในการตรวจหามะเร็งปากมดลูก คือ แปปเทส (Pap test) หรือ แปปสเมียร์ (Papanicolaou smear)เป็นส่วนหนึ่งของการตรวจทางนรีเวชที่มักเรียกว่าการตรวจภายใน ช่วยในการตรวจหาเซลล์บุผิวปากมดลูกผิดปกติ ก่อนที่เซลล์เหล่านั้นจะเปลี่ยนไปเป็นระยะก่อนเป็นมะเร็งหรือมะเร็งปากมดลูก ผลของการตรวจ แปปสเมียร์ ใช้ในการตัดสินใจของแพทย์ถึงความจำเป็นในการตรวจเพิ่มเติม (เช่น การเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อไปตรวจ หรือ HPV DNA test ) หรือให้การรักษาที่จำเป็น
สาเหตุหลักที่ผู้หญิงไม่กล้าไปให้แพทย์ตรวจ แปปสเมียร์ เพราะความอายและความกลัว ซึ่งเป็นที่น่าเสียดาย เพราะถือว่าเป็นการสูญเสียโอกาสที่จะค้นพบโรคต่างๆ ในระยะเริ่มแรก และสามารถทำการรักษาให้หายขาดได้โดยเฉพาะโรคมะเร็งปากมดลูก
ในปัจจุบ้นสถาบันมะเร็งแห่งชาติมีนโยบายระดับชาติในการรณรงค์ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ให้กับหญิงไทยในอายุ 35 - 60 ปี ทุกๆ 5 ปี เป็นนโยบายเชิงรุกซึ่งจะช่วยลดจำนวนผู้ป่วยได้ เมื่อเทียบกับประเทศพัฒนา ไทยมีอัตราการตายด้วยโรคมะเร็งปากมดลูกสูง
อย่างไรก็ตามการไปตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างสมำเสมออาจมีระยะห่างที่แตกต่างกันในบางราย ขึ้นอยู่กับตามคำแนะนำของแพทย์ และเนื่องจากประชาชนยังเข้าถึงการให้บริการด้านสาธารณสุขไม่เพียงพอ การค้นพบของศาสตราจารย์เฮาเซนซึ่งนำไปสู่การคิดค้นวัคซีนจะช่วยในการวางแผนเพื่อลดโรคมะเร็งปากมดลูกในอนาคตได้อีกทางหนึ่ง


สามารถตรวจคัดกรองหรือตรวจหามะเร็งปากมดลูกได้อย่างไร?



1. การตรวจภายใน หากพบก้อนผิดปกติที่ปากมดลูก แพทย์จะตรวจยืนยันโดยการตัดชิ้นเนื้อบางส่วนไปส่งตรวจทางพยาธิวิทยา

2. การตรวจทางเซลล์วิทยา หรือ “แปปสเมียร์” หรือ “แปปเทส” เป็นการตรวจภายในร่วมกับการเก็บเอาเซลล์บริเวณปากมดลูกไปตรวจทางเซลล์วิทยา

การเตรียมตัวก่อนรับการตรวจแปปสเมียร์อย่างไร?
· ไม่ควรมีการตรวจภายในมาก่อน 24 ชั่วโมง
· ห้ามสวนล้างภายในช่องคลอดมาก่อน 24 ชั่วโมง
· งดการมีเพศสัมพันธ์คืนวันก่อนมารับการตรวจภายใน
· ไม่ควรเหน็บยาใด ๆ ในช่องคลอดมาก่อน 48 ชั่วโมง
· ควรมารับการตรวจมะเร็งหลังประจำเดือนหมดแล้วประมาณ 2 สัปดาห์ สำหรับผู้ที่ไม่มีประจำเดือนแล้วให้มาได้ตามสะดวก

3. การตรวจด้วยกล้องขยาย หรือ คอลโปสโคป ร่วมกับการตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจทางพยาธิวิทยา

4. การตรวจอื่นๆ ที่อาจช่วยในการวินิจฉัยมะเร็งปากมดลูก ได้แก่ การขูดภายในปากมดลูก การตัดปากมดลูกด้วยห่วงไฟฟ้า การตัดปากมดลูกออกเป็นรูปกรวยด้วยมีด

คุณทำอะไรได้บ้าง เพื่อจะลดโอกาสที่จะเป็นมะเร็งปากมดลูก?

การตรวจคัดกรองด้วย แปปสเมียร์เป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะลดโอกาสในการเกิดมะเร็งปากมดลูก หากตรวจพบในระยะแรกก่อนแพร่กระจาย ก็สามารถรักษาระยะก่อนเป็นมะเร็ง (หรือกระทั่งเป็นเซลล์มะเร็งแล้วก็ตาม) ได้ ในประเทศสหรัฐอเมริกา 60-80% ของผู้หญิงรายใหม่ที่ตรวจพบมะเร็งปากมดลูกระยะลุกลาม ไม่ได้ตรวจ แปปเทส ภายในระยะ 5 ปีก่อนได้รับการวินิจฉัย และหลายรายไม่เคยทำแปปสเมียร์ เลย

ดังนั้น ต้องแน่ใจว่าคุณตรวจ แปปสเมียร์ ตามคำแนะนำของแพทย์ ซึ่งจะช่วยในการตรวจหาความเปลี่ยนแปลงของเซลล์ปากมดลูกที่น่าสงสัยก่อนที่จะกลายไปเป็นมะเร็ง คุณอาจขอคำแนะนำจากแพทย์ถึงวิธีการอื่นๆ ในการลดโอกาสเกิดมะเร็งปากมดลูก

มะเร็งปากมดลูกสามารถคุกคามถึงชีวิต แต่คุณสามารถลดความเสี่ยงได้ คุณควรเรียนรู้เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างมะเร็งปากมดลูก และ Human Papillomavirus (HPV), หูดอวัยวะเพศ, เซลล์ผิดปกติของปากมดลูก,และ ผลอื่นๆ ที่เกิดขึ้นจากการติดเชื้อ HPV กรุณาสอบถามแพทย์ผู้ดูแลคุณเพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติม


การพยากรณ์โรค

    ผลการรักษามะเร็งปากมดลูกในปัจจุบันได้ผลดีมากขึ้นกว่าในอดีต โดยเฉพาะในระยะก่อนลุกลามและระยะลุกลามเริ่มแรก โดยในระยะก่อนลุกลามการรักษาได้ผลดีเกือบ100 % ดังนั้นการตรวจค้นหามะเร็งในระยะแรกเริ่มด้วยการตรวจแปปสเมียร์จึงมีความสำคัญมาก โดยผู้หญิงที่เคยมีเพศสัมพันธ์มาแล้วควรรับการตรวจภายในและตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างสม่ำเสมอทุกคน

หูด จาก HPV ?

หูดคือ อะไร?
หูด คือ ติ่งเนื้อที่สามารถขึ้นได้ตามส่วนต่างๆของร่างกาย (ดังรูป) แม้แต่บริเวณอวัยวะเพศ หูดที่อวัยะเพศเป็นหูดที่มีสีขาวหรือสีเนื้อ ซึ่งมักเกิดจาก HPV บางชนิด หูดที่อวัยวะเพศมักเกิดบริเวณส่วนนอกของอวัยวะเพศหรือใกล้กับทวารหนักของผู้หญิงหรือผู้ชาย อย่างไรก็ตาม หูดที่อวัยวะเพศ อาจเกิดขึ้นภายในช่องคลอดและปากมดลูก หูดที่อวัยวะเพศนี้ อาจทำให้มีอาการแสบ คัน หรือเจ็บปวด ชนิดของ HPV ที่ทำให้เกิดหูดที่อวัยวะเพศ จะแตกต่างกับชนิดที่ทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูก


สามารถพบหูดที่อวัยวะเพศบ่อยเพียงใด?

หูดที่อวัยวะเพศ พบได้บ่อยมาก จากข้อมูลการสำรวจประมาณการณ์ว่า 10% ของผู้ชายและผู้หญิงจะมีหูดที่อวัยวะเพศ

หูดที่อวัยวะเพศ จะเกิดขึ้นหลังจากมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่ติดเชื้อภายในไม่กี่สัปดาห์หรือไม่กี่เดือนอีกด้วย

จะวินิจฉัยหูดที่อวัยวะเพศได้อย่างไร?

แพทย์ผู้รักษาจะทราบว่าเป็นหูดที่อวัยวะเพศหากได้เห็น ส่วนหูดที่มองไม่ค่อยเห็น แพทย์จะตรวจดูโดยใช้กล้องส่องขยาย

จะรักษาหูดที่อวัยวะเพศอย่างไร?

หูดที่อวัยวะเพศ อาจหายได้เอง โดยที่ไม่ต้องได้รับการรักษา อย่างไรก็ตาม เมื่อพบหูดในครั้งแรก ก็ไม่สามารถบอกได้ว่า หูดนั้นจะหายไปเองหรือจะโตขึ้น การรักษาหูดที่อวัยวะเพศมีหลายวิธีขึ้นกับขนาดและบริเวณที่เป็นแพทย์อาจเลือกที่จะใช้ครีมหรือน้ำยาทาที่หูด หูดที่อวัยวะเพศบางชนิดอาจกำจัดออกได้โดยใช้ความเย็น จี้ด้วยความร้อนหรือใช้เลเซอร์ หากหูดนั้นๆ ไม่ตอบสนองต่อวิธีการรักษาดังกล่าว หรือมีขนาดใหญ่ แพทย์อาจต้องทำการผ่าตัดเพื่อกำจัดหูดออก

หูดที่อวัยวะเพศนี้ อาจเกิดขึ้นอีกได้ภายหลังจากได้รับการรักษาแล้ว เนื่องจากเชื้อ HPV ชนิดที่เป็นต้นเหตุยังคงอยู่
และหูดที่อวัยวะเพศ เป็นเพียงผลอย่างหนึ่งจากการติดเชื้อ HPV

ผลอื่นๆที่เกิดขึ้นจากการติดเชื้อ HPV


Human Papillomavirus (HPV) บางชนิด อาจเกี่ยวข้องระยะก่อนเป็นมะเร็งหรือมะเร็งนอกเหนือจากที่เกี่ยวข้องกับมะเร็งปากมดลูก หรือหูด ดังนี้
·      มะเร็งที่ปาก 
·      มะเร็งที่คอหอย 
·      มะเร็งช่องคลอด สมาคมโรคมะเร็งแห่งสหรัฐอเมริกา (The American Cancer Society - ACS) ได้ประมาณการณ์ว่าภายในสิ้นปี พ.ศ. 2548 จะมีการวินิจฉัยพบผู้ป่วยมะเร็งช่องคลอดรายใหม่ 2,140 รายในสหรัฐอเมริกา และจะทำให้สตรี 810 รายเสียชีวิต   การเกิดมะเร็งช่องคลอดจะใช้เวลาหลายปี
  
·      มะเร็งของอวัยวะเพศสตรีส่วนนอก คือ มะเร็งบริเวณแคมนอกและแคมใน (ส่วนนอกของอวัยวะเพศสตรีซึ่งล้อมรอบช่องคลอดACS ประมาณการณ์ว่า ในปี พ.ศ. 2548จะมีการวินิจฉัยพบมะเร็งของแคมอวัยวะเพศสตรีรายใหม่3,870 รายในสหรัฐอเมริกา และจะทำให้สตรี 870 ราย เสียชีวิต
·      มะเร็งทวารหนัก จะพบที่บริเวณทวารหนัก ทวารหนักเป็นอวัยวะที่มีส่วนหนึ่งอยู่ภายใน และอีกส่วนหนึ่งจะอยู่ภายนอกร่างกาย มะเร็งอาจเริ่มเกิดที่ส่วนใดก็ได้ และสามารถพบทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย แต่พบค่อนข้างน้อย ประมาณ 85% ของผู้ป่วยมะเร็งทวารหนัก 44,000 รายทั่วโลก มีสาเหตุจาก HPV ตามการประมาณการณ์ขององค์การอนามัยโลกในปี พ.ศ. 2542

หูดบริเวณเยื่อบุทางเดินหายใจชนิดกลับเป็นซ้ำ recurrent respiratory papillomatosis (RRP)  RRP มักเกิดกับเด็กที่คลอดจากมารดาซึ่งมี HPV ชนิดที่ทำให้เกิดหูดที่อวัยวะเพศเป็นส่วนใหญ่  เชื้อไวรัสจะแพร่ผ่านจากแม่ไปสู่ลูกในระหว่างคลอดปกติ (เช่น การคลอดออกทางช่องคลอด) 


แพทย์ผู้ดูแลคุณจะช่วยให้คุณเข้าใจโรคเหล่านี้ได้ดีขึ้น คุณสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมในหัวข้ออื่นในเวบไซต์นี้แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม หรือกรุณาสอบถามจากแพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์เพื่อหาข้อมูลเพิ่มเติม

สุขบัญญัติ 10 ประการในการใช้ชีวิตเพื่อให้ห่างไกลจากมะเร็ง

สิ่งที่ไม่ควรทำ มีอาทิ

1.ไม่ควรสูบบุหรี่
2.ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เช่น สุรา เบียร์ ไวน์ เหล้าขาว ฯลฯ มากเกินไป
3.ไม่ควรรับประทานอาหารที่เค็มจัด ร้อนจัด ไหม้เกรียม


สิ่งที่ควรทำ  ได้แก่

  1. ควรรับประทานอาหารให้หลากหลาย
  2. รับประทานผักและผลไม้ให้มากขึ้น ควรรัปประทานผักในปริมาณกึ่งหนึ่งของมื้ออาหารแต่ละมื้อ 
  3. ลดการรับประทานไขมันลง หากเป็นไปได้
  4. ควรเก็บอาหารให้ถูกสุขอนามัย โภชนาการดี
  5. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
  6. พักผ่อนให้เพียงพอ
  7. ตรวจสุขภาพและตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกประจำปี

โรงพยาบาลและหน่วยงานที่ให้คำปรึกษาและรักษา โรคจากHPV



โรงพยาบาลศิริราช
www.si.mahidol.ac.th



โรงพยาบาลรามาธิบดี 
www.ra.mahidol.ac.th



โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
www.chulacancer.net



โรงพยาบาลยันฮี
www.yanhee.co.th

โรงพยาบาลเจ้าพระยา
www.chaophya.com

โรงพยาบาลวิภาวดี
www.vibhavadi.com

โรงพยาบาลพญาไท
www.phyathai.com

โรงพยาบาลเสรีรักษ์ 
www.seriruk.co.th

hpv-thailand
www.hpv-thailand.com